Wine (Glass) & Why Harmony of Wine Glass
And Difference Wine
Part 1 :
เลือกแก้วไวน์ให้เข้ากับไวน์
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักพร้อมทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “วัสดุแข็ง ลักษณะอยู่ตัวจนเป็นเนื้อเดียวกันที่เกิดจากการเย็นตัวลงอย่างฉับพลันของวัสดุหลอมหนืด ซึ่งเน้นการขึ้นรูปทรงโดยเฉพาะ และไม่ก่อผลึก” เรียกง่ายๆ ก็คือ “แก้ว” นั่นเอง แต่ผมขอเน้นตรงไปที่ “แก้วไวน์” หรือ “stemware” เครื่องแก้วที่มีก้านเรียวสำหรับจับ ไม่มีหู ประกอบไปด้วยตัวแก้ว (bowl) ก้าน (stem) และฐานรองแก้ว (foot) ซึ่งเดี๋ยวนี้แบบไร้ก้านเขายังมีผลิตเหมือนกันนะครับ
แก้วไวน์
มีมานานถึง 5,000 ปี ก่อนคริสตศักราชด้วยซ้ำไป แต่ตอนนั้นชาวฟินีเชียนคนไหนจะรู้บ้างล่ะครับว่า เจ้าเนตรอน (คาร์บอเนตของโซดา) ที่หลอมละลายจากการนำมารองหม้อซุปที่ตั้งอยู่บนไฟ จะไหลมารวมกับพื้นทรายข้างล่างแล้วเกิดกลายเป็นแก้วขึ้นมา ถ้าไม่มีนักเขียนโรมันบันทึก และตั้งข้อสังเกตเอาไว้ จนปล่อยให้วันเวลาผ่านไปถึง 1,500 – 3,000 ปีก่อนคริสตศักราช พร้อมๆ กับยุคที่อารยธรรมเริ่มมาเยือนจึงค่อยๆ พัฒนาจนกลายเป็นรูปทรงองค์เอว โดยเริ่มมีให้เห็นบ้างในอียิปต์ (ในยุคของฟาโรห์อาเมนโนพิสที่ 4) และ เมโสโปเตเมีย (ซึ่งปัจจุบันน่าจะอยู่แถวๆ อิรักนั่นแหละครับ)
ส่วนก่อนหน้านั้นแทบไม่ต้องพูดถึง ใช้กันเลอะเทอะเปรอะเปื้อนไปหมด มีตั้งแต่เขาสัตว์ หนังสัตว์ ไปจนถึงไม้ โลหะสำริด ทองคำ หรือแม้แต่กะโหลกศีรษะ ก็ยังมีการนำมาใช้แทนแก้วไวน์กันเลย (กะโหลกของศัตรูที่เป็นแม่ทัพบางรายในสมัยโบราณถูกเลือกมาทำเป็นแก้วไวน์ เพื่อความสะใจอะไรประมาณนั้น) เหลือเชื่อไหมล่ะครับ จนบัดนี้ยังมีการเลียนแบบทำแก้วไวน์รูปกะโหลกศีรษะกันอยู่เลย ท้ายสุดชาวโรมันชักทนไม่ไหวกับกลิ่นปนเปื้อนของภาชนะนั้นๆ โดยเฉพาะสารพิษของตะกั่วในไหใส่ไวน์ และแก้วไวน์จากพิวเตอร์ (pewter) ที่ทำจากตะกั่ว (ปัจจุบันพัฒนามาเป็นแก้วไวน์ที่มีดีบุกผสมตะกั่วของแท้ (pewter wine glass) ประกอบกับมาถึงยุคที่สามารถคิดค้นผลึกแก้วได้แล้ว วิวัฒนาการจึงจำต้องเริ่มขึ้น
โดยอียิปต์จะเน้นรูปลักษณ์ของแก้วไวน์ไปในแนวสีสันสดใสของสเตนกลาส (stained glass) ส่วนแก้วของเวนิสกลับให้ความสนใจไปที่รูปแบบเฉพาะตัวเสียมากกว่า สำหรับแก้วของโบฮีเมียจะค่อนข้างเปราะบาง เพราะเน้นความละเอียดอ่อนอย่างมีชีวิตชีวา เท่ากับว่าแก้วไวน์ได้มีการพัฒนากลายเป็น 3 รูปแบบในยุคเดียวกัน จากนั้นชาวโรมันก็หันกลับมาต่อยอดโดยเฉพาะเรื่องเทคนิคในการสร้างรูปทรง ต่อมามีการปรับเปลี่ยน ทั้งกระจายลงไปยังกรีซและจีน จนกระทั่ง ปีคริสตศักราชที่ 14 ชาวซีเรียได้ค้นพบวิธีการเป่าแก้ว (blowing) จากนั้นก็พัฒนาไล่เรื่อยกันมาจนได้แก้วรูปทรงอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบันนี่แหละครับ
สมัยก่อนลักษณะของแก้วมักจะเน้นไปที่ลวดลายอันวิจิตร เพื่อความอภิรมย์ในการมอง ดม และดื่ม จนต้องปรับเปลี่ยนกลายมาเป็นแก้วไวน์ใสๆ บางเบา (แก้วที่มีความใสสูงที่สุดนั้นผลิตขึ้นจากไทเทเนียมคริสตัล) ไร้สี ไม่มีลวดลาย ประกอบไปด้วยตัวแก้ว มีรูปทรงยาว รี กลม แตกต่างกันไป ทำหน้าที่รองรับบรรจุน้ำไวน์ พร้อมทั้งโอบอุ้มกลิ่นที่เกิดจากโมเลกุลที่แตกกระจายหลังการแกว่งแก้ว ขนาดของตัวแก้วจึงสัมพันธ์กับพื้นที่สำหรับการแกว่ง ต่อจากตัวแก้วคือก้าน เป็นแกนสมดุลสำหรับจับและแกว่ง ซึ่งมีความสั้นยาวยืดหยุ่นตามขนาด และรูปทรงของตัวแก้ว ส่วนสุดท้ายคือฐานรองแก้ว มีหน้าที่รับน้ำหนัก และจัดวางสมดุล มักมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใกล้เคียงหรือเท่ากับปากแก้ว
ในเวลาต่อมาได้มีการพัฒนาไปจนถึงไซส์ เมื่อเห็นว่าแก้วไวน์ที่มีขนาดกระเปาะและปากแก้ว (the rim) ที่เหมาะสมไม่กว้างจนเกินไปนั้นจะกลายเป็นจุดรวมพล ช่วยทำให้โฟกัสกลิ่นไวน์ได้ดียิ่งขึ้น จนมีการออกแบบขอบแก้วไวน์ให้บางแบบตัด พูดง่ายๆ คือ ไม่มีขอบม้วน หรือขอบพับ เพื่อความลื่นไหลในการรับรส และสัมผัสที่นุ่มนวลเวลาจรดริมฝีปาก แม้กระทั่งความสั้นยาวของก้านก็ต้องให้สมดุลกันกับตัวแก้ว เพื่อความสะดวกในการจับไม่ให้มือไปสัมผัสกับตัวแก้ว ซึ่งเท่ากับเป็นการรักษาอุณหภูมิที่เขาเซตไว้โดยปริยาย อีกทั้งความยาวนั้นจะเกินความสูงของลำตัวไม่ได้นะครับ เพราะจะมีผลต่อการมองเห็นสีสัน ตลอดจนการลื่นไหลของน้ำไวน์ หรือ “tear” เพื่อสังเกตอายุของไวน์ และที่สำคัญคือการให้ไวน์นั้นๆ สามารถแสดงความเป็นตัวตนออกมาได้อย่างเต็มที่
สรุปก็คือ การเลือกแก้วไวน์ให้เข้ากับไวน์จึงถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญไม่ใช่น้อย เพราะรูปทรงของแก้วนั้นจะมีผลต่อจุดที่น้ำไวน์จะไหลเข้าสู่ปากผ่านไปยังลิ้น ทำให้ไวน์นั้นๆ มีรสอร่อยที่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับกระบวนการทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามาด้วย แต่ถ้าเป็นไวน์เลิฟเวอร์ทั่วไป โดยเฉพาะผู้เริ่มต้นดื่ม เรื่องแก้วอาจไม่จำเป็นสักเท่าไหร่ครับ แต่ถ้าเป็นคอไวน์ลิ้นพระกาฬ เจอกันครั้งหน้าครับ!!! ใน Wine (Glass) & Why Harmony of Wine Glass and Difference Wine #Part 2
รับรองว่าไม่ผิดหวังอย่างแน่นอนครับ
——————————————————
Word : วิฑูรย์ วงษ์สวัสดิ์
กรรมการผู้จัดการ โรงเรียนวิฑูรย์ค็อกเทลและไวน์